หลายคนเคยเห็นควาย เคยเห็นมูลควาย เคยเห็นตอนที่พวกมันกำลังขับถ่าย แต่คงไม่ได้สังเกตอาการของมัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่น่าดูชมนัก
แต่สำหรับชาวบ้านในสมัยก่อน โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่กับควาย พวกเขาเป็นดังมิตรสหายที่ช่วยกันทำมาหากิน เป็นสัตว์ผู้มีพระคุณของคนไทยมาช้านาน
คนโบราณสังเกตว่า เวลาควายจะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย พวกมันจะไม่ยืนเฉยๆ หรือนั่ง แต่จะเดินไปด้วยขับถ่ายไปด้วย ระหว่างนั้นอวัยวะเพศของมันก็ส่ายไปส่ายมา ภาษาอีสานเรียกว่า “เอี้ยวไปเอี้ยวมา” เป็นทางยาว
จากพฤติกรรมของควายซึ่งดูเป็นเรื่องทะลึ่งทะเล้น แต่คนอีสานสมัยก่อนเขาช่างคิดช่างจินตนาการ นำเอามาปรับเป็นลวดลายผ้ามัดหมี่ เรียกว่า “ลายหมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย”
แค่ 1 Story ก็กินขาด ได้ใจชัยภูมิไปเต็มๆ
ลวดลายผ้าของคนโบราณมาจากการหยิบจับเรื่องราวใกล้ตัวมาเป็นไอเดีย เราได้เรียนรู้เรื่องนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ “พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ KOMGRISH” หรือ “เฮือนคำมุ” ก่อตั้งโดย อาจารย์เอ๋-คมกฤช ฤทธิ์ขจร ศิลปินร่วมสมัยแห่งชาติ ทายาทพระยาแล จังหวัดชัยภูมิ นักอนุรักษ์ผ้าไทยที่มีความชื่นชอบด้านผ้าไทย ท่านเป็นลูกหลานเจ้าพ่อพญาแลโดยตรง จึงมีมรดกทางประวัติศาสตร์เป็นผ้าทอโบราณสะสมมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น
อาจารย์คมกฤชเคยเขียนเล่าไว้ว่า “เมืองชัยภูมิเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวชัยภูมิเป็นชนเผ่าที่เดินทางมาจาก เมืองเวียงจันทร์ โดยการนำของ นายแล (พระยาภักดีชุมพล) ซึ่งในอดีตท่านเป็นข้าราชการในวังหลวงแห่งนครเวียงจันทร์และนางบุญมี (ท่านท้าวบุญมี) ภรรยาของท่าน สตรีที่อยู่ในคุ้มหลวง (คุ้มเจ้าเมือง)จะเรียกขนานนามว่า “ผู้ดีหลวง” เนื่องจากสตรีที่อยู่ในคุ้มหลวง จะเป็นสตรีที่มีความเพียบพร้อมทั้งกริยามารยาท ความเป็นแม่ศรีเรือน” (อ้างอิงจากบล็อก OK Nation) อาจารย์คมกฤช เป็นทายาทของคุณยายแล พระญาติของพระยาแล และคุณแม่คำมุ (ที่มาของเฮือนคำมุ โดย “เฮือน” แปลว่า บ้านเรือน ในภาษาเหนือและอีสาน) ซึ่งได้รวบรวมผ้าทอของจังหวัดชัยภูมิ อายุ 50-300 ปี มาเพื่อจัดแสดงถึงความงดงามและเรื่องราวอันเป็นรากเหง้าของชาวชัยภูมิ อาจารย์คมกฤช เล่าว่า ลวดลายผ้าของคนชัยภูมิ มีแรงบันดาลใจมาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย จินตนาการ วิถีชีวิต และความเชื่อ ในโอกาสที่ได้ฟังท่านบรรยายให้ฟัง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เราก็พบถึงความงดงามอันล้ำค่า คู่ควรกับการรักษาและต่อยอด อีกทั้งยังสนุกกับเรื่องราวของความเชื่อที่น่าสนใจ ที่มา : https://www.meetthinks.com/kammu-museum-chaiyaphum/